นโยบายกระทรวง

นโยบายกระทรวง


การประชุมมอบนโยบายของ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ)
วันพุธที่ 26 สิงหาคม 2558 ณ ห้องประชุม 134 – 135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
               รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ประธานการประชุม ในโอกาสที่ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าให้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายการบริหารราชการให้กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 134-135 ตึกกระทรวงเกษตรฯ ถนนราชดำเนินนอก สรุปได้ดังนี้
              1. เรื่องแจ้งที่ประชุมทราบ
                  1.ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในการทำงานตามอุดมการณ์ที่ถูกต้องร่วมกันอย่างเต็มกำลังความสามารถ และอิสระจากการเมือง ไม่ให้เกิดการชี้นำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
                  2.ขอให้ผู้บริหารซึ่งจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ ให้ความสำคัญและทุ่มเทการทำงานในห้วงเวลาที่เหลืออยู่ให้คุ้มค่า เกิดประโยชน์มากที่สุดกับหน่วยงาน
                  3.นับจากนี้ไปต้องคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น วางระบบงานของทุกกรมและในระดับกระทรวงให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าทุกคนรักกระทรวงเกษตรฯ และมีความตั้งใจที่จะพัฒนางานที่รับผิดชอบ
             2. หลักการทำงานตามนโยบาย
                 2.1 ทำงานอย่างโปร่งใส ไม่คอรัปชั่น ทั้งเงินงบประมาณ และโปร่งใสในเรื่องข้อมูลที่ให้กับผู้บังคับบัญชา เกษตรกร และประชาชน
                 2.2 ยึดนโยบายรัฐบาลตามหลัก "ทำก่อน ทำทันที” แบ่งเป็น 3 ระยะ ตาม Roadmap ระยะเร่งด่วน ระยะต่อเนื่อง ระยะยาวอย่างยั่งยืน
                 2.3 ยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลางของการทำงาน (กระทรวงศึกษาธิการสร้างคน กระทรวงเกษตรฯ สร้างชีวิต สำคัญต่ออนาคตของชาติที่จะทำบุญกุศล)
                 2.4 ในทุกระดับของการทำงานจะต้องมีผู้รับผิดชอบชัดเจน
                 2.5 การขับเคลื่อนนโยบายเป็นแผนงานต้องออกมาเป็นรูปธรรม ทำงานแบบเป็นทีมและร่วมกันขับเคลื่อนในทุกมิติกับภาคเอกชน และภาคเกษตรกร
            3. เรื่องสั่งการ
                3.1 เรื่อง IUU ให้กรมประมงตรวจสอบแผนระดับชาติ (NPOA – IUU) ให้แล้วเสร็จเสนอ ครม.ภายในสิงหาคม 2558 มอบรองปลัด กษ. (นายวิมล จันทรโรทัย) สร้างทีมทำงานด้านแก้ไขปัญหาแรงงาน ตามเวลาที่ต้องส่ง EU และทบทวนเรื่องปัญหาแรงงานในภาคประมงที่ต้องรายงานหรือวางระบบ ซึ่งต้องให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องนี้ รวมทั้งในการเดินทางไปเจรจากับ EU ซึ่งมีเอกอัครราชทูตวีรชัย พลาศรัย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเจรจา (รองปลัดฯ วิมล และ กป.)
                 3.2 เรื่องการลดต้นทุนการผลิต ไม่ใช่เป็นเรื่องของกรมใดกรมหนึ่ง แต่เป็นการบูรณาการร่วมกันเป็นแปลงใหญ่ เช่น ข้าวราคาขึ้นกับตลาดโลก ให้คิดวิธีใหม่ โดยการรวมแปลงเป็นแปลงใหญ่ก่อเกิดกิจกรรมลดต้นทุนการผลิตที่กำหนดเป้าหมายให้ทุกคนเข้ามาร่วมทำงานโดยวัดผลได้ 3 เดือน มอบ สศก. คิดโมเดลลดต้นทุนการผลิตแบบใหม่ (สศก.)
                 3.3 เรื่องการจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรภายใน 1 เดือน มอบกรมส่งเสริมการเกษตร ต้องออกแบบใหม่ ในการเอาไปใช้ประโยชน์ช่วยเหลือเกษตรกร เช่น ด้านหนี้สิน ด้านอาชีพ เป็นต้น ต้องออกแบบฟอร์มให้ดีสำหรับการจ้างทำงานสำรวจจัดทำข้อมูลแทนการจัดจ้างแรงงานขุดคูคลอง (กสก. ประสาน ชป.)
                 3.4 เรื่องน้ำในฤดูแล้งหน้าจะเป็นอย่างไร อาจจะหนักกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และต้องวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาว เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ รวมทั้งการทำฝนหลวง ซึ่งได้ทำอยู่แล้ว มอบกรมชลประทานไปหาแหล่งน้ำให้กับเกษตรกรในฤดูแล้งหน้า และบริหารจัดการน้ำชลประทานให้เกษตรกรรู้จักการใช้น้ำและปรับเปลี่ยนพืชที่ใช้น้ำน้อย และปีงบประมาณ 2558 2559 กรมชลประทานจะต้องทำอะไรในฤดูนี้และฤดูแล้งที่จะมาถึง เช่น บ่อน้ำในไร่นา และแหล่งน้ำของเกษตรกร เป็นต้น (ชป. ฝล. และ พด.)
                  3.5 เรื่องเกษตรอินทรีย์ เป็นเรื่องที่ให้ความสนใจ เพราะถ้าเป็นเกษตรอินทรีย์จะเป็นการผลิตที่ได้มาตรฐาน ไม่มีสิ่งเจือปน ขายได้ราคาดี รวมทั้งการทำการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ตรงกับความต้องการของตลาด เพราะช่วงนี้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงควรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการตลาด (สศก. และ มกอช.)
                  3.6 เรื่องศูนย์ 882 ศูนย์ work หรือไม่ work รู้หรือไม่ว่าอำเภอนั้นๆ มีการเพาะปลูกหรือทำการเกษตรแบบไหนและจะต้องทำอย่างไรให้เป็นบูรณาการ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของตลาดสินค้าเกษตร (กสก.)
                  3.7 เรื่องการปรับปรุงโครงสร้างบริหารราชการของทุกหน่วย ซึ่งจะต้องดำเนินการ (ทุกหน่วยงาน)
                  3.8 เรื่องสหกรณ์ อยากให้สนใจและใช้สหกรณ์ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตร รวมทั้งการตรวจสอบมาตรฐานของสหกรณ์ ยกตัวอย่างเช่น จากการไปดูงาน พบว่าประเทศญี่ปุ่นมีเจ้าหน้าที่รัฐไปช่วยส่งเสริมเรื่องมาตรฐานให้กับสหกรณ์ จากนั้นให้สหกรณ์และเกษตรกรดำเนินการผลิตเอง จึงทำให้เกิดความเข้มแข็งได้ (กสส.)
                   3.9 เรื่องหนี้สินของเกษตรกร ต้องดำเนินการต่อไปอย่างจริงจัง (สป.กษ. และ สศก.)
                  3.10 เรื่องการวิจัย เป็นส่วนสนับสนุนทุกแผนงาน/โครงการ การจัด Zoning ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก และหาแหล่งน้ำให้กับกิจกรรมการผลิตที่เหมาะสมกับ Zoning (กวก. ปศ. กป. กข. และสวก.
                  3.11 เรื่องความเข้มแข็งของข้าราชการ โดยเฉพาะการแต่งตั้งข้าราชการระดับ 9 ถึงระดับ 11 (c9 – c11) ให้มีการคิดเป็นคณะกรรมการหรือกฎกระทรวง เพื่อไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง เช่น กระทรวงกลาโหม จะมีคณะกรรมการกลาโหม เป็นผู้พิจารณาการแต่งตั้งโยกย้าย (สป.กษ. และทุกหน่วยงาน)
                  3.12 เรื่องรัฐวิสาหกิจ ขอให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทำงานด้วยความโปร่งใส และดูแลเกษตรกร รวมทั้งประชาชนที่มารับบริการอย่างมีประสิทธิภาพ (กยท. อสค. อ.ต.ก. และ อสป.)
                  3.13 เรื่องโครงการพระราชดำริ ให้สนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่โครงการ (สป.กษ. สวพส. และทุกหน่วยงาน)
                  3.14 เรื่องผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและเกษตรกร ขอให้สรุปว่ามีผลการดำเนินงานรวมและความก้าวหน้า และจะต้องดำเนินการต้องไปอย่างไรด้วย (สศก. และทุกหน่วยงาน)
                  3.15 เรื่องพืชเศรษฐกิจ ขอให้ทบทวนปรับปรุง Roadmap ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 ชนิด (ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ขอให้ทบทวนเป้าหมายพื้นที่ดำเนินการว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน และอนาคต ยังมีความเหมาะสมหรือไม่ หากทบทวนและจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ ให้เสนอเข้ามาใหม่ โดยผ่าน กรอ. ต่อไป (สศก.)
                  3.16 เรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกษตรผ่าน Application ให้ดูในภาพรวม หรือในรูปคณะกรรมการที่กำกับดูแล ให้มีความทันสมัย น่าสนใจ และได้สาระ มอบรองปลัด กษ. (นายวิมล จันทรโรทัย) และขอให้รู้ว่ากลุ่มลูกค้าที่จะรับบริการมีมากกว่าเกษตรกร เช่น กลุ่มคนสมัยใหม่ที่ต้องการดูความทันสมัยของ Application ของกระทรวงเกษตรฯ (รองปลัดฯ วิมล และ สศก. คณะกรรมการรับรู้ข้อมูลฯ)
                  3.17 ดำเนินการตาม Roadmap ของกระทรวงเกษตรฯ อย่างต่อเนื่องตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) ได้วางและดำเนินการไว้แล้ว ให้ดำเนินการต่อเนื่อง (ทุกหน่วยงาน)
                  4. เรื่องสั่งการของนายกรัฐมนตรี
                       4.1 การสร้างความเข้าใจ ให้ทุกหน่วยงานสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ให้เกิดความรู้สึกว่ามีข้าราชการที่ดีและเป็นประโยชน์กับประชาชน
                       4.2 การแอบอ้างข้อสั่งการหรือคำสั่งต่างๆ ไปเผยแพร่ ขอให้นำเรียนหารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรก่อนโดยเฉพาะในเรื่องนโยบาย
                       4.3 การจัดซื้อ จัดจ้าง มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเป็นกรอบยึดปฏิบัติอยู่แล้ว หากจำป็นต้องมีการจัดซื้อ จัดจ้างเป็นแบบพิเศษ ควรให้มีน้อยที่สุด และให้ตรวจสอบเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ
                      4.4 การบริหารจัดการเอกสารลับ จะต้องมีการจัดเก็บตามชั้นความลับภายในหน่วยงาน และมีผู้รับผิดชอบตามระเบียบวิธีการจัดการชั้นความลับของราชการ ให้ระมัดระวังเรื่องการเข้าถึงข้อมูลในรูปแบบการโจรกรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ที่ต้องการนำข้อมูลข่าวสารของทางราชการไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ
                      4.5 การทำงานโปร่งใส ทันเวลา และมีประสิทธิภาพต้องสรุปผลการดำเนินงานทุก 3 เดือน (ทำไปแล้วและจะทำอย่างไรต่อไป)
                      4.6 นายกรัฐมนตรีมุ่งหวังการสร้างความเข้มแข็งในการผลิตการเกษตร และเกษตรกร ดังนั้น ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร สามารถที่จะนำผลงานวิจัยที่มีอยู่แล้วไปประยุกต์ใช้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องคิดวิจัยใหม่ซึ่งต้องใช้เวลานาน
                      4.7 การจัดกิจกรรมในรูปแบบ Bike for Mom สามารถขยายผลและสร้างสรรค์กิจกรรมลักษณะนี้เพิ่มเติมได้ภายในหน่วยงาน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น